Sunday 21 December 2008

Joseon Society

ในละครที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวของราชวงศ์โชซอน สิ่งที่เห็นเด่นชัดก็คือโครงสร้างทางสังคมในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะระบบชนชั้น ซึ่งมักเป็นบ่อเกิดของเรื่องราวต่างๆ วันนี้ขอมาแนะนำให้รู้จักกับระบบชนชั้นทางสังคมในยุคสมัยนั้นกันนะคะ

อาณาจักรโชซอนเริ่มรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นและสามารถครอบครองอำนาจในฐานะเป็น
ราชอาณาจักรหนึ่งเดียวและอยู่ได้นานถึง 518 ปี (ค.ศ. 1392 - 1910) จนกระทั่งถูกญี่ปุ่นยึดครองเป็นอาณานิคม

ในปี ค.ศ.1404 ได้มีการทำสำมะโนประชากรขึ้นเป็นครั้งแรก ในครั้งนั้นอาณาจักรโชซอนมีครัวเรือนทั้งสิ้น 174,132 ครัวเรือน และมีประชากร 360,929 คน มีตำแหน่งข้าราชการรวม 820 ตำแหน่ง ส่วนตำแหน่งทางทหารมี 4,000 ตำแหน่ง จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ทำงานในกองทัพมีมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในบทบัญญัติของขงจื้อมักจะเน้นถึงความสำคัญของนักปราชญ์และข้าราชการเหนือกว่าผู้ใช้อาวุธ ดังนั้น ข้าราชการในราชสำนักผู้ซึ่งมีทั้งความรู้และดำรงตำแหน่งในทางราชการจึงได้รับการยกย่องจากกษัตริย์และผู้คนทั่วไปว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติทางสังคมสูง

สังคมในยุคนั้นได้มีการแบ่งชนชั้นออกเป็น 4 ชนชั้น ดังนี้

(1) ยังบัน (Yanban) ชนชั้นนี้เป็นชนชั้นสูงสุด ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์และราชตระกูลในราชสำนัก รวมทั้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ ข้าราชการพลเรือน เรียกว่า มุนบัน (Munban) ข้าราชการทหาร เรียกว่า มูบัน (Muban)

คำว่า ยังบัน นั้นหมายถึง ชนชั้นสูงทั้งสองกลุ่ม พวกยังบันนับว่าเป็นพวกที่มีอำนาจสูงสุดที่ห้อมล้อมองค์พระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพราะเป็นทั้งเจ้าของที่ดินและเป็นนายทาสและแรงงานที่อาศัยอยู่ในชนบทการเข้าสู่ตำแหน่งยังบันได้นั้นจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการเช่นเดียวกับระบบของจีน (สอบจอหงวน) ในกรณีของเกาหลีแม้ไม่ได้กำหนดสิทธิในการสอบไล่ไว้เฉพาะชนชั้นยังบัน แต่คนธรรมดามีโอกาสน้อยมากที่จะสามารถสอบผ่านเข้าไปได้ เป็นเพราะบุตรหลานของชนชั้นสูงมักจะได้รับการศึกษาจากสถานศึกษาชั้นดีตั้งแต่เล็ก ๆ และได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่ที่มีพื้นฐานเป็นชนชั้นสูงอยู่แล้ว ทำให้ผู้สอบไล่ได้กระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มยังบันเป็นส่วนใหญ่ จึงดูเสมือนว่าเกาหลีจำกัดสิทธิในการสอบไล่ไว้ให้กับพวกยังบันเท่านั้น

ในกลุ่มยังบันด้วยกันก็มีการแบ่งสถานภาพและโอกาสทางสังคมตามพื้นฐานทางครอบครัวของแต่ละคน ผู้ที่มีโอกาสดีที่สุดก็คือผู้ที่ถือกำเนิดเป็นบุตรชายที่เกิดจากภรรยาหลวงที่ถูกต้องตามกฎหมายของสังคม และผู้ที่เป็นบุตรชายที่เกิดจากอนุภรรยาที่ผ่านงานพิธีสมรส บุตรที่มาจากสองกลุ่มนี้เท่านั้นจะมีสิทธิเรียนรู้วิทยาการของขงจื้อและเข้าสอบไล่ถึงขั้นสูงสุด เพื่อสืบทอดอำนาจและตำแหน่งของบรรพบุรุษ ส่วนเด็กที่เกิดจากภรรยาลับหรืออนุภรรยาที่ไม่ผ่านพิธีสมรสจะถูกจำกัดให้ประกอบอาชีพเป็นช่างชำนาญการหรือชนชั้นกลางไป

สรุปแล้วยังบันเป็นชนชั้นสูงของสังคมและมีการถ่ายทอดฐานะทางสังคมโดยผ่านทางสายเลือดหรือสายตระกูลเป็นหลัก ชนชั้นนี้จะมีอาชีพที่มีเกียรติทางสังคมเช่น เป็นขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักปราชญ์ และแม่ทัพนายกอง ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้มักครอบครองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจพร้อม ๆ กันไป

(2) ชุงอิน (Chungin) หรือชนชั้นกลาง ชนชั้นนี้จะได้รับการฝึกฝนในวิชาชีพ ช่างชำนาญการในด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์ รวมทั้งภาษาต่างประเทศเพื่อประกอบอาชีพที่ตรงกับสาขาวิชาดังกล่าวตามความต้องการของรัฐบาล หน้าที่การงานเหล่านี้ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของพวกยังบัน เพราะถือว่าเป็นงานที่ต่ำกว่า ซึ่งต้องทำงานอยู่ใต้อำนาจของชนชั้นสูง

ลูกหลานของชนชั้นกลางจะสืบทอดสถานภาพทางสังคมโดยผ่านทางสายเลือดหรือสายตระกูลเช่นกัน อาชีพที่พวกเขาทำมักเป็นข้าราชการระดับกลางที่เน้นความสามารถเฉพาะทาง และถือเป็นแขนขาของรัฐบาลหรือราชสำนัก จำนวนของชนชั้นกลางมีไม่มากนัก

(3) ซังมิน (Sangmin) หรือพวกสามัญชน และยางมิน (Yangmin) หรือชาวนา คนในชนชั้นนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมที่ประกอบอาชีพเป็นชาวนาและพ่อค้ารายย่อย ทั้งนี้เพราะสังคมเกาหลีในยุคนั้นเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกมีอยู่อย่างจำกัดและล้วนเป็นของตระกูลยังบันที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงทางราชการแทบทั้งสิ้น พวกชาวนาจึงต้องเช่าที่นาโดยเสียค่าเช่า ภาษีที่ดินและภาษีผลผลิตเพื่อนำส่งไปให้แก่ราชสำนัก

การเก็บภาษีมักกระทำหลายขั้นตอน และเป็นช่องทางให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคสามารถขูดรีดและเบียดบังเงินภาษีอากรไปเป็นของตน จนบางครั้งทำให้ผู้เช่าที่ดินกลายสภาพเป็นทาสติดที่ดินไปในที่สุด

ส่วนพ่อค้านั้นก็มีบทบาทไม่มากนักเพราะการค้าถูกจำกัดให้กระทำภายในเขตของแต่ละหมู่บ้าน นอกจากนี้ ลัทธิขงจื้อมักเหยียดหยามอาชีพพ่อค้าที่แสวงหาผลกำไรว่าเป็นงานที่ต่ำและน่ารังเกียจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสามารถแสวงหาผลกำไรได้ ทำให้พ่อค้าได้รับการคุ้มครองจากชนชั้นสูงโดยใช้ทรัพย์สินเป็นใบเบิกทางในงานอาชีพและดำเนินชีวิตในสังคม

ในยุคใดที่กษัตริย์และขุนนางประสงค์ที่จะให้บ้านเมืองสงบสุข สามัญชนมักจะได้รับการเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขโดยไม่ถูกกดขี่ข่มเหงหรือรีดไถจากพวกยังบันมากนัก ในทางตรงกันข้าม ในยุคที่ราชสำนักขาดเสถียรภาพเพราะมีการขับเคี่ยวชิงดีชิงเด่นระหว่างเชื้อพระวงศ์และยังบันแต่ละกลุ่ม ชนชั้นนี้ย่อมได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะจะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารและถูกเร่งรัดเก็บภาษีในอัตราสูง จึงทำให้เกิดการลุกฮือก่อการจลาจลของชาวนาเสมอ

คนในชนชั้นนี้ที่เป็นชายวัย 16 - 60 ปีจะต้องไปเป็นทหารในช่วงหนึ่งของชีวิต และจะต้องไปทำงานให้กับรัฐบาลปีละ 6 วัน แต่ในความเป็นจริงนั้น พวกเขาต้องทำงานมากกว่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงการที่ไปทำ ดังเช่น งานซ่อมแซมถนนและหลุมฝังศพของกษัตริย์ สร้างเขื่อนกันน้ำท่วม ขุดเหมืองฝาย และสร้างป้อมปราการ จึงต้องทำงานหลายวันจนกว่าโครงการนั้นจะเสร็จสิ้น

ลูกหลานของสามัญชนอาจเลื่อนฐานะทางสังคมได้บ้างหากสามารถสอบไล่ผ่านเข้ารับราชการในระดับท้องถิ่น แต่จำนวนผู้สอบผ่านมีน้อยมาก ทำให้การสอบไล่ได้แต่ละครั้งสร้างความฮือฮาและกลายเป็นตำนานเล่าขานกันไม่รู้จบของคนในตระกูลนั้นๆ

(4) ชอนมิน (Chonmin) หรือผู้ถือกำเนิดต้อยต่ำ เป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคม ประกอบไปด้วยทาส พวกเต้นรำและนักแสดง คนทรง และคนฆ่าสัตว์ (อย่างเช่นคิมชูซอนที่ถือว่าเป็นลูกคนทรง) สถานภาพของพวกเขาจะตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ชนชั้นต่ำเหล่านี้จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม บางครั้งจะไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านของชนชั้นอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นคนฆ่าสัตว์ซึ่งต้องแยกอยู่ในหมู่บ้านเองต่างหาก

ทาสมีหลายประเภท ได้แก่ ทาสของรัฐบาล ทาสของตระกูล และทาสของเอกชน ทาสเหล่านี้ได้แก่ลูกที่ถือกำเนิดจากมารดาที่เคยเป็นทาสมาก่อน หรือเป็นผู้ที่ขายตัวหรือที่ถูกบิดามารดานำมาขายเป็นทาส หรือเป็นเด็กทารกที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งอันเป็นผลมาจากการเกิดจากการมีความสัมพันธ์ที่ไม่เปิดเผยตามประเพณี เป็นต้น

ชนชั้นต่ำเหล่านี้จะไม่ถูกกำหนดให้เสียภาษี หรือไปทำงานให้กับรัฐบาลหรือต้องไปเป็นทหาร ทั้งนี้เพราะไม่ถือว่ามีสิทธิเท่าเทียมกับในชนชั้นอื่น ทาสของรัฐบาล จะต้องทำงานในโรงงานของรัฐในการผลิตสิ่งของประเภทต่าง ๆ และทำงานรับใช้เหล่าข้าราชการ ทาสของเอกชนจะทำงานเป็นผู้รับใช้ในบ้านของผู้เป็นนายและต้องทำงานขุดดินแบกหามในไร่นาของเจ้าของนายทาส

ผู้ที่อยู่ในชนชั้นต่ำจะแต่งงานกับคนในชนชั้นอื่นไม่ได้ ดังนั้น การเลื่อนชั้นทางสังคม จึงเป็นไปได้ยากมาก ในปี ค.ศ. 1650 มีทาสทั้งหมดรวม 200,000 คนจากจำนวนประชากรทั้งสิ้นราวสองล้านคน ส่วนในปี ค.ศ. 1717 ประชากรของเกาหลีมี 6,846,568 คน มีทาสทั้งสิ้นราว 350,000 คน
และมีกฎทางสังคมที่ห้ามมิให้มีการแต่งงานข้ามชนชั้นเด็ดขาด ตัวอย่างเช่น ยังบันจะแต่งงานได้กับเฉพาะพวกยังบันด้วยกันเท่านั้น หากมีการแต่งงานข้ามชนชั้นเกิดขึ้น ผู้นั้นก็จะได้รับการลงโทษอย่างหนัก (อย่างเช่นในแดจังกึม) การนับชนชั้นของเด็กที่เกิดจะยึดสถานภาพของมารดาเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่าผู้เป็นบิดาจะเป็นคนในชนชั้นใด

จริงอยู่ที่มีการนำระบบการสอบไล่เพื่อเข้ารับราชการของจีนมาใช้นับตั้งแต่ยุคต้น
ของราชวงศ์ยี (ยี่ซานก็เป็นหนึ่งในกษัตริย์ราชวงศ์ยี) แต่โอกาสของชนชั้นต่ำที่จะเลื่อนฐานะทางสังคมตามระบบนี้มีน้อยมาก เพราะการแบ่งชนชั้นของเกาหลีในยุคนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวดมากและมีกฎเกณฑ์มากมายที่ทำให้คนในแต่ละชนชั้นจำเป็นต้องมีชีวิตในกรอบของชนชั้นของตน


สถานการณ์ในยุคนั้นก่อให้เกิดข้อขัดแย้ง 2 ประการในหมู่ชนชั้นสูง คือ
(1) การสร้างสมฐานะตามสายตระกูลของยังบันก่อให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์กับ
กษัตริย์หรือของชาติ

และ (2) จำนวนลูกหลานยังบันเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี แต่ตำแหน่งทางราชการมิได้ขยายตัวรองรับกับจำนวนที่เพิ่ม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการสอบไล่ที่มักคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถจริง ๆ และจำกัดจำนวนผู้สอบผ่าน ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกออกเป็นก๊ก ๆ ในขณะเดียวกันก็มีการขัดแย้งระหว่างเหล่ายังบันสูงอายุที่ยึดมั่นตามแนวอนุรักษ์นิยมกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งข้อขัดแย้งเหล่านี้เป็นผลมาจากการนับถือลัทธิขงจื้อที่คนกลุ่มหนึ่งยึดแนวทางหลักของจีนเป็นแนวปฏิบัติ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งแปลความหมายของลัทธินี้ตามบริบทหรือบนพื้นฐานของสังคมเกาหลี

ความวุ่นวายดังกล่าวก่อให้เกิดการแตกแยกและเกิดกบฎของชนชั้นต่ำเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ
และการเอารัดเอาเปรียบในสังคม กบฎที่มีชื่อเสียงมากในยุคตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่
16 คือกบฎที่นำโดย อิมค็อกชอง ที่รวบรวมชาวนายากจนปล้นสดมภ์บ้านเรือนของยัง
บันและข้าราชการที่ร่ำรวย แล้วนำเอาทรัพย์สินที่ได้มาแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ นอกจากนี้
ยังบุกยึดคลังอาหารของรัฐบาลในจังหวัดเคียงกิและฮวงเฮ แล้วนำไปมอบให้กับผู้หิวโหย
ในที่สุดทางการจับได้และประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1562 แต่อุดมการณ์และชื่อเสียงของเขา
ระบือไปทั่ว จนมีผู้นำเรื่องราวไปเขียนเป็นนิยายชื่อ นิยายของฮงกิลดงนั่นเอง (The Tale of
Hong Kil-Tong)


Copyright by Ladymoon
(เรียบเรียงจากบทความของ รศ. ดร. ดำรงค์ ฐานดี
ผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

No comments:

Post a Comment